Malenkov, Georgi Maksimilianavich (1902-1988)

นายเกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ (๒๔๔๔-๒๕๓๑)

​​     ​เกออร์ กีมัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ เป็นเลขาธิการคนที่ ๒ ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต สหายสนิทของโจเซฟ สตาลิน(Joseph Stalin)* และนายกรัฐมนตรีโซเวียตระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ ถึงกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๕ มาเลนคอฟมีบทบาทสำคัญในการกวาดล้างกลุ่มปรปักษ์ของสตาลินระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ และมีส่วนร่วมในการวางแผนสร้างสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อกวาดล้างชาวยิวในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าแผนฆาตกรรมของคณะแพทย์ (Doctor’s Plot)* ค.ศ. ๑๙๕๓ หลังอสัญกรรมของสตาลินผู้นำโซเวียตในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ เขาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของนีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev)* ในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและวางแผนกำจัด

ครุชชอฟแต่ประสบความล้มเหลว ครุชชอฟขับเขาออกจากพรรคใน ค.ศ. ๑๙๖๑ และเนรเทศไปทำงานที่คาซัคสถาน (Kazakhstan) ในเอเชียกลางตราบจนสิ้นชีวิต
     มาเลนคอฟเกิดในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะดีเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๒ ที่เมืองโอเรนบูร์ก(Orenburg) คาซัคสถาน บิดาซึ่งหันมายึดอาชีพค้าขายเห็นความสำคัญของการศึกษาและส่งเสียบุตรทุกคนให้ได้เข้าเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดของจังหวัด มาเลนคอฟเป็นเด็กหัวปานกลางและชอบเก็บตัว เขารักการอ่านและมีโอกาสได้อ่านนวนิยายการเมืองเล่มสำคัญเรื่อง What is to Be Done? Tales About the New People ของนีโคไล กัฟรีโลวิช เชียร์นีเชฟสกี (Nikolai Gavrilovich Chernyshevsky)* นักสังคมนิยมแนวทางนารอดนิค (Narodnik)* หรือรัสเซียปอบปูลิสต์ (Russian Populism)* นวนิยายเรื่องดังกล่าวทำให้เขาสนใจการเมืองและแนวทางการปฏิวัติ เมื่อพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* และ เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นผู้นำก่อการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ เพื่อยึดอำนาจทางการเมือง มาเลนคอฟในวัย ๑๕ ปีซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมไม่ได้เข้าร่วมในการปฏิวัติที่เกิดขึ้น แต่ก็ติดตามข่าวการยึดอำนาจและช่วยเผยแพร่เอกสารและแผ่นปลิวเกี่ยวกับการปฏิวัติ
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ มาเลนคอฟสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายด้วยคะแนนเกียรตินิยมและเขาสมัครร่วมรบในสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* ทันที เขาได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารคอมมิสซาร์ (political commissar) ซึ่งสังกัดสภาปฏิวัติทหาร (Revolutionary Military Council) ในกองทัพแดง (Red Army)* เพื่อควบคุมการดำเนินงานขององค์การพรรคในกองทัพ มาเลนคอฟถูกส่งไปประจำแนวรบด้านตุรกีสถาน (Turkestan) และหน้าที่หลักของเขาคือ การสอดส่องและกวาดล้างการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในกองทัพและกำจัดฝ่ายศัตรูที่แฝงเร้นในกองทัพรวมทั้งควบคุมหน่วยเกณฑ์สเบียง เพื่อบังคับเกณฑ์ผลผลิตจากชาวนา ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ มาเลนคอฟสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และไต่เต้าอย่างรวดเร็วในหน้าที่การงานจนสตาลินซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคเริ่มสนใจเขา
     หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง เขาเข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีระดับสูงแห่งมอสโก (Moscow High Technology School - MVTU) และดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการขององค์การพรรคประจำโรงเรียนด้วยในช่วงที่ การแย่งชิงอำนาจภายในพรรคระหว่างสตาลินกับตรอตสกีกำลังเขม็งเกลียวและส่งผลกระทบต่อองค์การพรรคระดับต่าง ๆ มาเลนคอฟพยายามดำเนินนโยบายสายกลางโดยไม่สนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้กลุ่มนิยมสตาลินสนับสนุนเขาให้ทำงานในสังกัดคณะกรรมาธิการกลางพรรค เขาจึงมีโอกาสใกล้ชิดและร่วมงานกับสตาลินโดยตรงโดยทำงานในสำนักเลขานุการพรรคของสตาลิน สตาลินซึ่งทราบภูมิหลังในการทำงานและติดตามความก้าวหน้าของเขามาโดยตลอดจึงเลือกมาเลนคอฟเป็นเลขานุการส่วนตัว ใน ค.ศ. ๑๙๒๕
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๔ มาเลนคอฟรับผิดชอบควบคุมองค์การพรรคแห่งมอสโก และใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ถูกโอนมาสังกัดองค์กรกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งทำให้เขามีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายกวาดล้างกลุ่มปรปักษ์ของสตาลิน เมื่อสตาลินเริ่มนโยบายการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ มาเลนคอฟซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลของคณะกรรมาธิการกลางพรรค (Personnel Section of the Central Committee) ทำหน้าที่ซักถามไต่สวนสมาชิกพรรคซึ่งถูกทารุณกรรมเพื่อให้ยอมรับสารภาพผิดในข้อหาที่พรรคสร้างขึ้นสตาลินตอบแทนเขาด้วยการสนับสนุนให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคและสำนักเลขาธิการ ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ มาเลนคอฟเป็นคู่แข่งคนสำคัญของลัฟเรนตี ปัฟโลวิช เบเรีย (Lavrenty Pavlovich Beria)* หัวหน้าตำรวจลับ ในการชิงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสืบแทนนีโคไล เยจอฟ (Nikolai Yezhov)* ที่ถูกสตาลินสั่งกำจัดแม้มาเลนคอฟจะพ่ายแพ้แต่การชิงตำแหน่งสำคัญครั้งนี้ก็สร้างชื่อให้กับเขามากเพราะทำให้เขาเป็นที่ยอมรับทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* บุกโจมตีสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สตาลินจัดตั้งคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ (State Defense Committee - OKO) ขึ้นเพื่อวางนโยบายเกี่ยวกับสงคราม สมาชิกของคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศประกอบด้วย แกนนำคนสำคัญของโปลิตบูโรรวม ๕ คนซึ่งสามารถตัดสินและกำหนดแนวทางการทำสงครามทุกเรื่อง แม้มาเลนคอฟจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกถาวรของโปลิตบูโร แต่สตาลินก็เลือกเขาเป็น ๑ ใน ๕ ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทและความสำคัญของเขาในพรรครวมทั้งสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสตาลิน
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง สตาลินแต่งตั้งมาเลนคอฟเป็นรองนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนเขาเป็นสมาชิกถาวรของโปลิตบูโรใน ค.ศ. ๑๙๔๖ รวมทั้งเป็นเลขาธิการคนที่ ๒ ในคณะกรรมการกลางพรรค แม้มาเลนคอฟจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวแต่เขาก็สนับสนุนเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการจะบีบบังคับมหาอำนาจตะวันตกให้ละทิ้งกรุงเบอร์ลินเป็นการถาวรซึ่งนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน(Berlin Blockade)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ คณะกรรมการกลางพรรคมีมติให้มาเลนคอฟเป็นผู้กล่าวรายงานแทนสตาลินในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๑๙ ในเดือนตุลาคม และเป็นผู้แทนพรรคเข้าร่วมหารือการจัดตั้งสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์ (Communist Information Bureau) หรือโคมินฟอร์ม(Cominform)* ที่เมืองชคลาร์สคาโพเรบา (Szklarska Poreba) ประเทศโปแลนด์ ในการประชุมก่อตั้งโคมินฟอร์มครั้งนี้ อันเดรย์ จดานอฟ (Andrei Zhadanov)* แกนนำด้านทฤษฎีคนสำคัญของพรรค คอมมิวนิสต์โซเวียตได้เรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกยึดอำนาจทางการเมืองและรวมพลังต่อต้าน ลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* แนวความคิดของจดานอฟได้มีส่วนทำให้เกิดสภาวะตึงเครียดของ สงครามเย็น (Cold War)* ในยุโรป
     ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เบเรียร่วมมือกับจดานอฟกล่าวหามาเลนคอฟว่าเขาให้ความสำคัญในการเสริมสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งผ่อนคลายลงมากใน ระหว่างสงครามน้อยกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การที่มาเลนคอฟสนับสนุนการเลือกสรรวรรณกรรมคลาสสิกตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงสมัยใหม่มาจัดพิมพ์ในราคาถูกเพื่อให้พลเมืองโซเวียตมีโอกาสอ่านและเป็นเจ้าของ แม้จะเป็นการสนับสนุนนโยบายขจัดการไม่รู้หนังสือ แต่ผลงานของนักเขียนบางคนที่เขาสนับสนุนให้จัดพิมพ์ เช่น กวีนิพนธ์ของ อันนา อัคมาโตวา (Anna Akhmatova) และนวนิยายของ มีฮาอิล ซอสเชนโก (Mikhail Zoschenko) ก็เป็นนักเขียนที่ทั้งเบเรียและจดานอฟเห็นว่าสังกัด "พวกกระฎุมพีที่เน่าเฟะ" (decadent bourgeois) มาเลนคอฟจึงถูกโจมตีว่าต่อต้านโซเวียตด้วยการสนับสนุนนักเขียนแนวคิดกระฎุมพี เขาจึงถูกลดบทบาททางการเมืองลง อย่างไรก็ตาม เมื่อจดานอฟถูกโค่นอำนาจและเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ มาเลนคอฟก็สามารถกอบกู้สถานภาพทางการเมืองของตนจนกลับมาเป็นคนโปรดของสตาลินอีกครั้งหนึ่ง สตาลินใช้เขาเป็นดุลถ่วงระหว่างเบเรียกับครุชชอฟ นอกจากนี้ เขายังร่วมมือกับเบเรียกวาดล้างกลุ่มของจดานอฟใน "เหตุการณ์เลนินกราด" (Leningrad Affair) ค.ศ. ๑๙๔๘ และกวาดล้างชาวยิวในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์" ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๓
     เมื่อสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ มีการปรับปรุงระบบบริหารโดยลดจำนวนสมาชิกโปลิตบูโรซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเปรซิเดียม (Presidium) จาก ๓๐ คนเหลือเพียง ๑๐ คนและการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคเริ่มก่อตัวขึ้น เบเรียสนับสนุนให้มาเลนคอฟดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรค ครุชชอฟซึ่งเป็นแกนนำอันดับ ๕ สูญเสียตำแหน่งเลขาธิการคนที่ ๑ ของมอสโกโดยไปดำรงตำแหน่งในสำนักเลขาธิการแทน และเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Breznev)* ซึ่งสนับสนุนครุชชอฟถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการทางการเมืองของทบวงทหารเรือ มาเลนคอฟจึงตอบแทนเบเรียด้วยการสนับสนุนให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งควบคุมหน่วยตำรวจลับและดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอันดับ ๑ ด้วย ในช่วงที่ยังไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดและมีการปกครองในรูปคณะผู้นำร่วม (collective leadership) นั้นเบเรียได้ใช้เหตุการณ์แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์โจมตีกลุ่มสตาลินและกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามเขาในกระทรวงมหาดไทยและแต่งตั้งคนของเขาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกระทรวงรวมทั้งหน่วยตำรวจลับ แต่การดำเนินการของเบเรียกลับนำความหายนะมาสู่เขาเองเพราะเขาสร้างความหวาดผวาแก่กลุ่มแกนนำพรรคคนอื่น ๆ ที่เกรงว่าเบเรียจะดำเนินการกวาดล้างพวกเขา มาเลนคอฟจึงร่วมมือกับครุชชอฟหาทางกำจัดเขา ต่อมาในเดือนมิถุนายนคณะกรรมการกลางพรรคเปิดประชุมโดยที่เบเรียไม่ได้เข้าร่วมด้วยและมีมติให้จับกุมเขาและปลดออกจากทุกตำแหน่งด้วยข้อหาวางแผนยึดอำนาจและสร้างความแตกแยก การหมดอำนาจของเบเรียทำให้มาเลนคอฟมีบทบาทสำคัญขึ้นเพราะเขาเป็นผู้แถลงในนามเปรซิเดียมประณามเบเรียในที่ประชุมคณะกรรมการกลาง และกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๓ ครุชชอฟก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคนที่ ๑ ของพรรคแทนมาเลนคอฟซึ่งได้ขอ ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ เพราะเห็นว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญกว่า และนับเป็นการดำเนินนโยบายที่ ผิดพลาดของมาเลนคอฟเพราะทำให้ฐานะของเขาขาดความมั่นคงในวงในแห่งอำนาจพรรค
     มาเลนคอฟกับครุชชอฟมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอย่างมากในด้านการต่างประเทศ มาเลนคอฟเชื่อมั่นว่าความเป็นศัตรูของประเทศตะวันตกยังไม่ถึงขั้นรุนแรงเนื่องจากสหรัฐอเมริกายังคงมีปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ และการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ก็มีส่วนทำให้สหรัฐอเมริกาต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ถูกโจมตีว่าเป็นประเทศกระหายอำนาจ มาเลนคอฟจึงต่อต้านเรื่องการสะสมอาวุธนิวเคลียร์และเสนอให้เปิดการเจรจากับสหรัฐอเมริกาเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามเย็นและเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามนิวเคลียร์ เขาต้องการปรับความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตะวันตกด้วยเพื่อแยกประเทศเหล่านั้นออกจากอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและสถาปนาความร่วมมือระหว่างสหภาพโซเวียต กับเยอรมนีแต่ครุชชอฟไม่เห็นด้วยและเสนอให้ใช้นโยบายแข็งกร้าวและเป็นฝ่ายรุกเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ครุชชอฟเห็นว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ ประเทศตะวันตกคือฝ่ายที่ได้รับความหายนะมากกว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์ และเชื่อมั่นว่าฝ่ายตะวันตกจะไม่กล้าริเริ่มก่อสงคราม นอกจากนี้ มาเลนคอฟยังคัดค้านนโยบายการปรับความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวียของครุชชอฟและสนับสนุนการลดอำนาจของหน่วยตำรวจลับหรือเคจีบี (KGB)* ด้วย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลาง ค.ศ. ๑๙๕๔ เป็นต้นมา ทางการทหารโซเวียตเชื่อว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นทั้งฝ่ายทุนนิยมและสังคมนิยมจะถูกทำลาย สหภาพโซเวียตจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในปริมาณและคุณภาพเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างระบบป้องปราบ (deterrent system) ของโซเวียตให้อยู่ในระดับที่จะตอบโต้ฝ่ายทุนนิยมได้ หรืออยู่ในระดับที่ฝ่ายทุนนิยมจะไม่กล้าเริ่มการโจมตีขึ้นก่อนความเท่าเทียมกันด้านนิวเคลียร์จะทำให้หลีกเลี่ยงการเกิดสงครามได้ แนวความคิดดังกล่าวมีส่วนทำให้ครุชชอฟในเวลาต่อมาพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่จะนำไปสู่สงครามเขาจึงเสนอแนวความคิด "การอยู่ร่วมกันโดยสันติ (peaceful-coexistence)" ขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มาเลนคอฟได้เคยเสนอมาก่อนแล้ว
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๕ มาเลนคอฟสนับสนุนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเน้นการเพิ่มปริมาณผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหนักน้อยลง เขาเรียกร้องให้ลดงบประมาณทางทหารและให้เพิ่มการลงทุนในนารวมและนารัฐ เพื่อกระตุ้นชาวนาให้เพิ่มการผลิตมากขึ้น ตลอดจนลดภาษีให้ชาวนาถึงร้อยละ ๕๐ ครุชชอฟไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเขาสนับสนุนอุตสาหกรรมหนักและการเสริมกำลังรบซึ่งทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอย่างมาก นอกจากนี้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๕๓ ครุชชอฟยังริเริ่มโครงการที่เรียกกันว่า "เมืองเกษตร" (farming town) ด้วยการพยายามบังคับให้นารวมขนาดเล็กรวมเข้ากับนารัฐ เพื่อพัฒนานารัฐให้ใหญ่และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเพิ่มผลผลิต ทั้งเป็นการลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทด้วยการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ ขนาดใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ ครุชชอฟก็เริ่มโครงการ "ดินแดนดิบ" (Virgin Lands) ในแถบเอเชียกลาง ยูราล และไซบีเรียใต้เพื่อพลิกฟื้นดินแดนรกร้างที่ว่างเปล่าให้เป็นเขตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมและสนับสนุนการอพยพพลเรือนไปตั้งรกรากที่ไซบีเรียเพื่อสร้างความเจริญให้เกิดขึ้น มาเลนคอฟและโมโลตอฟไม่เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจของครุชชอฟโดยเฉพาะ โครงการดินแดนดิบซึ่งเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ ไม่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม ครุชชอฟก็ได้รับการสนับสนุนจากนายพลนีโคไล บุลกานิน (Nikolai Bulganin) รัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำในคณะโปลิตบูโรคนอื่น ๆ
     นโยบายด้านเกษตรกรรมทำให้ความบาดหมางระหว่างครุชชอฟกับมาเลนคอฟรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะมาเลนคอฟเห็นว่าครุชชอฟก้าวก่ายงานในอำนาจเขาในขณะที่ครุชชอฟก็กล่าวหามาเลนคอฟว่าขาดความรู้และประสบการณ์ แม้จะมีการพยายามไกล่เกลี่ยความบาดหมางระหว่างคนทั้งสอง แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักและรอยร้าวที่เกิดขึ้นก็ทำให้ทั้งคู่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ความขัดแย้งระหว่างมาเลนคอฟกับครุชชอฟรุนแรงมากขึ้นในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๕ ครุชชอฟวิพากษ์โจมตีมาเลนคอฟว่าดำเนินนโยบายฝ่ายขวาเช่นเดียวกับนีโคไล อีวาโนวิช บูฮาริน (Nikolai Ivanovich Bukharin)* และอะเล็กเซย์ รืยคอฟ (Alexsey Rykov)* ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของเลนิน ต่อมาในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๕ ครุชชอฟก็สามารถโน้มน้าวคณะเปรซีเดียมซึ่งส่วนใหญ่ไม่พอใจบทบาทของมาเลนคอฟในเหตุการณ์เลนินกราดบีบบังคับให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมาเลนคอฟยอมรับความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและขาดประสบการณ์ด้านการบริหาร การพ้นตำแหน่งของมาเลนคอฟทำให้มีการปรับปรุงตัวบุคคลในตำแหน่งบริหารอีกครั้งหนึ่ง นีโคโลบุลกานิน สหายสนิทที่ครุชชอฟไว้วางใจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสืบแทนมาเลนคอฟ และจอมพล เกออร์กี คอนสแตนติโนวิช จูคอฟ (Georgi Konstantinovich Zhukov)* วีรบุรุษสงครามที่สร้างชื่อเสียงในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad ค.ศ. ๑๙๔๒)* เข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนบุลกานินโมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งขัดแย้งกับครุชชอฟได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่งร่วมกับสมาชิกเปรซิเดียมคนอื่น ๆ อีก ๔ คน ครุชชอฟยังสนับสนุนกลุ่มของเขาอีก ๒ คนให้เข้าเป็นสมาชิกเปรซิเดียม
     ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ ครุชชอฟ เรียกประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ ๒๐ ให้เร็วขึ้นก่อนข้อบังคับที่กำหนดไว้ถึงครึ่งปี เพื่อชี้ให้เห็นว่าเขามีอำนาจทางการเมืองที่แข็งแกร่ง เขาประกาศยุบค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* และยกเลิกการทารุณหฤโหดต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือของพรรคและอื่น ๆ ครุชชอฟยังกล่าวโจมตีนโยบายอุตสาหกรรมเบาของมาเลนคอฟและเสนอความเห็นเป็นนัยว่ามาเลนคอฟมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกวาดล้างในเลนินกราดโดยร่วมมือกับเบเรีย เขายังโจมตีโมโลตอฟโดยไม่ระบุชื่อโดยตรงว่ามีส่วนทำให้เกิดปัญหายุ่งยากภายใน และตำหนิโมโลตอฟ เรื่องการคัดค้านนโยบายปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับยูโกสลาเวีย ก่อนปิดการประชุมใหญ่ในวันสุดท้าย ครุชชอฟเสนอรายงานกว่า ๑,๐๐๐ หน้าที่ จัดทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ต่อคณะกรรมการกลางพรรคในการจะกล่าวประณามอาชญากรรมของสตาลินในที่ ประชุมใหญ่ มาเลนคอฟ โมโลตอฟและแกนนำคนอื่น ๆ พยายามคัดค้านแต่ประสบความล้มเหลว ครุชชอฟจึงสร้างความตื่นตระหนกและประหลาดใจให้แก่ที่ประชุมด้วยการกล่าว "สุนทรพจน์ลับ" โจมตีอำนาจเผด็จการของสตาลินอย่างรุนแรง และทำลายแนวความคิดลัทธิบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ที่สตาลินสร้างขึ้นเป็นเวลานานถึง ๔ ชั่วโมง สุนทรพจน์ลับของครุชชอฟทำให้นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (Destalinization)* เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการและในเวลาอันสั้นก็ขยายขอบเขตจากวงในพรรคไปสู่องค์กรพรรคระดับต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมทั้งในประเทศยุโรปตะวันออกด้วย
     หลังการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒๐ ครุชชอฟมีอำนาจที่แข็งแกร่งมากขึ้น มาเลนคอฟ โมโลตอฟ ลาซาร์ คากาโนวิช (Lazar Kaganovich)* และแกนนำในเปรซิเดียมที่ไม่พอใจครุชชอฟจึงรวมตัวกันเพื่อหาทางกำจัดเขา เมื่อเปรซิเดียมเปิดประชุมระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๗ ฝ่ายต่อต้านครุชชอฟพยายามบีบบังคับให้เขาลาออก แต่ครุชชอฟไม่ยอมปฏิบัติตามและเรียกร้องให้คณะกรรมการกลางพรรคเปิดประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ฝ่ายต่อต้านพยายามขัดขวางไม่ให้สมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคที่กำลังร่วมงานฉลองวาระครบ ๒๕๐ ปีการสถาปนานครเลนินกราดเดินทางมาร่วมประชุมที่กรุงมอสโก แต่จอมพล จูคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งสนับสนุนครุชชอฟได้จัดเครื่องบินทหารเป็นพาหนะแก่สมาชิกคณะกรรมการกลางให้เดินทางมากรุงมอสโกได้
     ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรค สมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ๒๑๕ คนจาก ๓๐๙ คนสนับสนุนครุชชอฟ และที่ประชุมมีมติประณามฝ่ายต่อต้าน ครุชชอฟ มาเลนคอฟ โมโลตอฟ และคากาโนวิชถูกขับออกจากเปรซิเดียมและคณะกรรมการกลางด้วยข้อกล่าวหาเป็น "กลุ่มต่อต้านพรรค" (anti-party group)ส่วนบุลกานินถูกปลดออกจากเปรซิเดียมในต้นเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๘ และครุชชอฟดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทนเขา
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๖๑ มาเลนคอฟถูกส่งไปทำงานที่คาซัคสถานในเอเชียกลางโดยเป็นผู้อำนวยการสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ และต่อมาเป็นผู้อำนวย การโรงงานพลังไฟฟ้า ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ เขาถูกขับออก จากการเป็นสมาชิกพรรคและรัฐบาลโซเวียตถือว่าเขา มีสถานภาพเป็น "บุคคลที่ ไร้ตัวตน" (nonperson) ในสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม หลังครุชชอฟถูกโค่นอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๖๔ มาเลนคอฟได้กลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้งหนึ่งแต่ก็ไม่มีบทบาทสำคัญในทางการเมือง เขายังคงทำงานที่โรงงานไฟฟ้าและเก็บตัวเงียบ ในช่วง ๑๒ ปีสุดท้ายของชีวิตเขากลับมาใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ที่ กรุงมอสโก
     เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัยชราที่ บ้านพัก ชานกรุงมอสโก เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๘ รวมอายุ ๘๖ ปี.



คำตั้ง
Malenkov, Georgi Maksimilianavich
คำเทียบ
นายเกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ
คำสำคัญ
- ตรอตสกี, เลออน
- เชียร์นีเชฟสกี, นีโคไล กัฟรีโลวิช
- นารอดนิค
- พรรคบอลเชวิค
- แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช
- กองทัพแดง
- รัสเซียปอปปูลิสต์
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สตาลิน, โจเซฟ
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- เยจอฟ, นีโคไล
- ตุรกีสถาน
- โมโลตอฟ, มาเลนคอฟ
- เบเรีย, ลัฟเรนตี ปัฟโลวิช
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- เหตุการณ์เลนินกราด
- เคจีบี
- ค่ายกักกันแรงงาน
- สงครามเย็น
- สำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์
- อัคมาโตวา, อันนา
- ชคลาร์สคาโพเรบา, เมือง
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- จดานอฟ, อันเดรย์
- ซอสเชนโก, มีฮาอิล
- นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- โคมินฟอร์ม
- การปิดกั้นเบอร์ลิน
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- โครงการดินแดนดิบ
- บุลกานิน, นีโคไล
- จูคอฟ, เกออร์กี คอนสแตนติโนวิช
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- บูฮาริน, นีโคไล อีวาโนวิช
- ยุทธการที่เมืองสตาลินกราด
- อะเล็กเซย์ รืยคอฟ
- กลุ่มต่อต้านพรรค
- คากาโนวิช, ลาซาร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1902-1988
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๔-๒๕๓๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf